วัฒนธรรมการกิน


อาหารรสเลิศกับวัฒนธรรมการกินของชนชาติต่างๆ 

     อาหารการกิน ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้อิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของมนุษย์ที่รู้จักดัดแปลงปรุงแต่งอาหารอย่างประณีตพิถีพิถัน แบบแผน ระเบียบวิธี และธรรมเนียมบนโต๊ะอาหาร เป็นศาสตร์ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็น อาหารและวัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการกินอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสังคม ไม่ใช่เพียงแค่บ่งบอกถึงวัตถุดิบหรือวิธีการปรุงอาหารเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงอุปนิสัย การอยู่อาศัย วิถีชีวิต รวมไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย 

วัฒนธรรมการทานอาหารของชาวไทย 

     ครอบครัวคนไทยสมัยก่อนจะนั่งรับประทานอาหารกับพื้น โดยใช้ผ้าสะอาดหรือเสื่อปูลาดบนพื้นบ้าน นั่งล้อมวงกัน ตักข้าวจากโถใส่จาน อาหารจัดมาเป็นสำรับ และวางสำรับไว้ตรงกลางวง มีช้อนกลางสำหรับตักกับข้าวใส่จานของตนเอง และทานอาหารด้วยมือ หรือที่เรียกว่า “เปิบ” บางบ้านจะมีขันตักน้ำและกระโถนเตรียมไว้เพื่อรองน้ำล้างมือด้วย 

     ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้ติดต่อกับประเทศทางซีกโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้นวัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่เข้ามาทำให้วิธีรับประทานอาหารของคนไทยเปลี่ยนไป โดยดัดแปลงให้เหมาะสมกับอาหารไทย เช่น ใช้ช้อนส้อม การนั่งรับประทานอาหารกับพื้นก็เลิกไป และเปลี่ยนมาเป็นนั่งรับประทานอาหารกับโต๊ะแทน แต่ยังคงวางอาหารทุกอย่างไว้กลางโต๊ะ และมีช้อนกลางสำหรับตักอาหารและมีถ้วยเล็กๆ สำหรับผู้ร่วมวงแต่ละคน เพื่อใส่กับข้าวที่แบ่งจากกลางวง 

     ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ อีกทั้งคนไทยสมัยก่อนรู้จักนำพืชผักสมุนไพรที่หาได้ง่ายมาปรุงแต่งเป็นเมนูอาหารรับประทานภายในครอบครัว ส่งผลให้วิถีการใช้ชีวิตของคนไทยสอดคล้องกับวิถีความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ซึ่งคนในสมัยก่อนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย เพราะรู้จักนำสมุนไพรในท้องถิ่น ที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคและใช้บำรุงร่างกายมาปรุงอาหารอีกด้วย 


วัฒนธรรมการทานอาหารของชาวฝรั่งเศส 

     นิสัยการรับประทานอาหารแบบฝรั่งเศส โดยทั่วไปจะเริ่มด้วยการดื่มเแอลกอฮอล์ก่อนอาหาร ตามด้วยอาหารเรียกน้ำย่อย เช่น ซุปผักและเนื้อสัตว์บด ปาเต (มีส่วนผสมของเนื้อ และไขมัน) หลังจากนั้นจึงมาถึงอาหารจานหลัก ได้แก่ ปลาหรือเนื้อ หรือทั้งสองอย่างเสิร์ฟพร้อมสลัดผักเขียว อาหารจานหลักของฝรั่งเศสจะมีความหลากหลายและซับซ้อน เช่น ไก่ต้มในไวน์แดงส่วนเครื่องเคียงที่ต้องมีคือ มันฝรั่งบด หรือผัด และต้องเสิร์ฟคู่กับขนมปังทุกครั้ง หลังจากอาหารจานหลักสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ชีส มีรายงานมาว่าฝรั่งเศสมีชีสมากกว่าหนึ่งพันชนิด แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ คะมอมแบร์ 

     เครื่องดื่มที่ชาวฝรั่งเศสมักดื่มเวลารับประทานอาหาร หากไม่ใช่น้ำเปล่าน้ำเปล่า ก็จะต้องเป็นไวน์เท่านั้น เพราะชาวฝรั่งเศสเชื่อว่า ไวน์ช่วยให้รับรู้รสชาติของอาหารได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไวน์นั้นมีหลากหลายชนิด แต่ที่นิยมและเลือกดื่มเป็นส่วนมากได้แก่ เฮาส์ไวน์


วัฒนธรรมการทานอาหารของชาวญี่ปุ่น 

     หากใครได้มีโอกาสไปลิ้มลองรสชาติบะหมี่ญี่ปุ่นในร้านญี่ปุ่นแท้ๆ ท่ามกลางชาวญี่ปุ่น กรุณาส่งเสียงซู้ดซ้าดเวลาสูดเส้นเข้าปากด้วย ยิ่งดังเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะนี่ถือเป็นการแสดงกิริยาว่าร้านนี้อร่อยเยี่ยมยอดเสียจริง 

      นอกจากบะหมี่แล้ว การกินซูชิหรือข้าวปั้นหน้าต่างๆ หากใช้ตะเกียบไม่คล่อง สามารถใช้มือจับข้าวปั้นได้ และให้เอาด้านบนที่เป็นหน้าซูชิจิ้มกับน้ำจิ้มโชยุ ระวังไม่ให้ข้าวแตกออกมาเป็นเม็ดๆลงไปในโชยุ ของคู่กับข้าวปั้นและปลาดิบคือวาซาบิ ชาวญี่ปุ่นเวลากินวาซาบิ จะไม่ละลายวาซาบิในโชยุแบบที่คนไทยทำกัน แต่จะป้ายบนซูชิแทน นอกจากนี้บางร้านจะไม่ใช้วาซาบิที่บีบจากหลอด แต่จะนำวาซาบิสดๆ มาทั้งต้น แล้วฝนกับที่ขูดที่ทำจากหนังปลาฉลาม ซึ่งวาซาบิสดๆ นั้น จะมีกลิ่นหอมมาก และไม่ฉุนขึ้นจมูกเท่าอย่างครีมที่บีบจากหลอด 

      นอกจากธรรมเนียมการกินอาหารจานหลักแล้ว ยังมีธรรมเนียมการรินเครื่องดื่มให้กันอีกด้วย กล่าวคือถ้าไม่มีพนักงานเสิร์ฟรินให้ ก็ควรที่จะรินให้ผู้อื่น และผลัดกันรินให้กัน การรินเครื่องดื่มให้ตัวเองนั้น ถือว่าเป็นการไม่สุภาพ 

   ในระหว่างที่กินอาหารนั้น ควรพูดว่าโออิชิ ซึ่งแปลว่าอร่อยอยู่บ่อยๆ เพื่อชมคนทำอาหารและถือเป็นการขอบคุณด้วย ตามมารยาทของคนญี่ปุ่นแล้วควรจะกินข้าวให้หมดชาม ถ้าเป็นอาหารชุดก็ควรจะกินทุกอย่างจนหมดสิ้น อาหารชุดจะต้องวางถ้วยข้าวไว้ด้านซ้ายมือ และถ้วยซุปไว้ทางขวามือ เพราะถ้าวางสลับเอาถ้วยซุปไว้ซ้าย ถ้วยข้าวไว้ทางขวา จะสำหรับผู้เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าถ้วยซุปไม่มีช้อนให้ ก็ต้องยกมือประคองถ้วยขึ้นมาแล้วกินน้ำซุปจากถ้วยเลย 

      การวางตะเกียบนั้นต้องวางบนที่วางและให้ปลายตะเกียบหันไปทางซ้ายมือเสมอ การคีบอาหารส่งกันไปมาทางตะเกียบถือเป็นข้อห้าม เพราะเป็นวิธีการที่ใช้กันในพิธีศพของญี่ปุ่น ซึ่งมีการคีบกระดูกคนตายส่งและรับต่อๆกันด้วยตะเกียบ ส่วนจะคีบอาหารแล้ววางบนจานให้คนอื่น เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องกลับเอาปลายตะเกียบด้านบนที่ไม่ได้ใส่เข้าปากมาคีบให้แทน รวมไปถึงเวลาคีบอาหารจากจานกลางให้ตนเองด้วย การปักตะเกียบลงในชามข้าวถือเป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างยิ่ง เพราะมีธรรมเนียมการปักตะเกียบลงในชามข้าวที่หัวนอนของคนตาย การใช้ตะเกียบดันหรือเลื่อนภาชนะ การใช้ตะเกียบจิ้มหรือเสียบอาหาร หรือส่ายตะเกียบไปมาโดยลังเลว่าจะคีบชิ้นไหนดี และการใช้ตะเกียบชี้คนหรือโบกไปมาเหนือจานอาหาร นั่นก็ถือเป็นมารยาทที่ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น 


วัฒนธรรมการทานอาหารของชาวอินเดีย 

     โดยทั่วไปคนอินเดียจะไม่ใช้ช้อนส้อม แต่จะทานอาหารด้วยมือ แม้แต่อาหารประเภทน้ำ จำพวกแกงเผ็ด หรือซุปถั่วต่างๆ ก็เช่นกัน โดยจะใช้แป้งขนมปัง เช่น นาน จาปาตี หรือโรตี ตักเข้าปากรับประทาน และการทานอาหารด้วยมือก็ถือว่าเป็นการรับประทานอาหารที่ได้รสชาติดีกว่าการใช้ช้อนส้อม ถ้าเป็นแบบอินเดียดั้งเดิมที่ปฏิบัติมาแต่โบราณจะใช้ใบตองแทนจานอาหาร เมื่อรับประทานเสร็จก็โยนทิ้งให้สลายตัวในธรรมชาติได้เลย อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจึงแทบไม่มีความจำเป็น ดังนั้นบนโต๊ะอาหารจะไม่มีอุปกรณ์อื่นๆ ให้ นอกเหนือจากถาดอาหาร ยกเว้นตามร้านอาหารทั่วไปก็บางร้านก็อาจให้ช้อนมาด้วยแต่จะไม่มีส้อม 

     ในการรับประทานอาหารด้วยมือต้องใช้มือขวาเพียงข้างเดียว และแค่ใช้ปลายนิ้วเท่านั้น ที่สัมผัสรวบอาหารเข้าปาก มารยาทที่ดีของชาวอินเดียต้องไม่ให้มือเลอะเทอะ และจานอาหารต้องเกลี้ยงเกลาสะอาด เหตุผลที่มือข้างซ้ายถูกห้ามใช้ในการทานอาหาร เพราะมือซ้ายถือว่าเป็นมือที่ใช้ชำระล้างในห้องน้ำ แต่ในบางชุมชนก็ยอมรับให้คนที่ถนัดซ้ายใช้มือซ้ายในการรับประทานอาหารได้ ดังนั้นก่อนรับประทานอาหารจึงต้องล้างมือให้สะอาด และการรับประทานอาหารที่เป็นทางการต้องให้เกียรติเจ้าภาพหรือผู้อาวุโส รับประทานก่อน และต้องไม่ลุกจากที่นั่งแม้จะรับประทานเสร็จแล้ว จนกว่าเจ้าภาพหรือผู้อาวุโสจะทานเสร็จอาจขอตัวลุกออกไปล้างมือได้ แต่ต้องรีบกลับมานั่งประจำที่โดยทันที 

     ชาวอินเดียส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารกับพื้น ต้องนั่งขัดสมาธิ และหลังตรงเสมอ ถ้านั่งบนโต๊ะอาหารต้องไม่เท้าศอกบนโต๊ะ และอย่ายกถ้วยหรือจานอาหารขึ้น การหยิบอาหารทานแต่ละครั้งควรหยิบคำเล็กๆ เพื่อไม่ให้หกเลอะปากและฝ่ามือ การทานอาหารควรทานให้ได้จังหวะสม่ำเสมอ ถ้าทานช้าไปอาจเป็นการแสดงความนัยว่าอาหารไม่อร่อยถูกปาก หรือทานเร็วไปก็เป็นการไม่สุภาพเช่นกัน 


วัฒนธรรมการทานอาหารของชาวจีน 

     ไคว่จึ หรือ ตะเกียบ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าอย่างหนึ่งของจีน ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ในการรับประทานอาหารที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในระดับโลก ตะเกียบได้รับการขนานนามจากชาวตะวันตกว่าเป็น “อารยธรรมของโลกตะวันออก” คนจีนเริ่มใช้ตะเกียบตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซางหรือนานกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน 

     ชนชาติจีนเป็นหนึ่งใน 3 ชนชาติที่เป็นเจ้าแห่งวัฒนธรรมการ กิน อีก 2 ชนชาตินั้น ได้แก่ กรีก และโรมัน อาหารนานาชนิด ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ได้รับอิทธิพล การกินจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ เช่น เส้นสปาเก็ตตี้ ที่มีต้นกำเนิดมาจากเส้นก๋วยเตี๋ยว ชนชาติจีนนี้เป็นชนชาติแรกที่รู้จักการใช้ไฟทำให้อาหารสุก รู้จักการเลี้ยงสัตว์ การปลูกผักเพื่อนำมาเป็นอาหาร และการนำโลหะมาประดิษฐ์ ขึ้นเป็นภาชนะหุงต้ม นี่เป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกได้ว่าคนจีนให้ความสำคัญต่อการกินเป็นอย่างมาก 

     มารยาทการกินอาหารของคนจีน จากตำราว่าด้วยธรรมเนียมการกินของคนจีนสมัยโบราณที่ถือกันมานานเป็นพันปี กำหนดไว้ว่า ถ้าแขกที่ได้รับเชิญไปกินอาหารมีตำแหน่งราชการต่ำกว่าผู้เป็นเจ้าภาพ ก่อนจะนั่งโต๊ะ ผู้น้อยที่เป็นแขก ควรแสดงความไม่บังควรที่จะร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ จะนั่งลงได้ก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่คะยั้นคะยอ และอย่าเพิ่งลงมือกินจนกว่าจะเห็นผู้ใหญ่ใช้ตะเกียบคีบอาหารชิ้นแรกเข้าปาก และเมื่อจะคีบอาหารกินบ้าง ก็ต้องเลือก ชิ้นที่เล็ก และอร่อยน้อยที่สุด อย่าเลือกชิ้นอร่อยที่สุด เช่น ส่วนที่เป็นหัว พุง กินก่อนเป็นอันขาด เพราะเป็นการเสียมารยาทอย่างร้ายแรง จะได้กินของดีที่สุดในจานหนึ่งๆ ก็จะต้องคอยจนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่จริงๆ ที่คนต่ำยศกว่าเชิญไปกิน ถ้าเจ้าภาพไม่เชิญดื่มสุราล้างปากระหว่างจาน อย่ายกแก้วหรือจอกขึ้นดื่มเองโดยลำพังเป็นอันขาด ต้องคอยให้ ผู้มีอาวุโสชวนดื่มจึงค่อยดื่ม 

     ไม่ควรส่งเสียงดังขณะทานอาหาร ไม่ควรใช้ฟันหน้าแทะกระดูก และชิ้นปลาที่กัดแล้วห้ามวางกลับลงในจาน จะต้องกินทั้งชิ้น โดยเลือกเอาแต่ชิ้นที่กินได้พอดีคำ เนื้อสัตว์ที่ต้ม ตุ๋น หรือทอดจนนุ่ม หรือกรอบแล้ว สามารถใช้ฟันกัดแบ่งกินทีละคำได้ แต่ถ้าเป็นเนื้อที่แห้งเหนียว ต้องใช้มีดตัดให้ขาดเป็นชิ้นเสียก่อน แล้วจึงใช้ตะเกียบคีบเข้าปาก การฉีกเนื้อเหนียวด้วยมือ แล้วป้อนเข้าปากนั้น ถือเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ เมื่อกินซุปจะต้องไม่เติมหรือปรุงเครื่องปรุง เว้นแต่น้ำซุปหูหลามที่มีน้ำส้มจิ๊กโฉ่วมาให้เติม หากเติมเครื่องปรุงใดๆ ลงไปในซุปจะเปรียบเสมือนการดูถูกฝีมือของเจ้าบ้าน 

     นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมต่างๆ อีกมากมายซึ่งในปัจจุบันได้ลดความเคร่งลงบ้างแล้ว แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสิ่งน่าจดจำ เพราะเป็นวัฒนธรรมอันดีงาม และยังสามารถกล่าวได้เต็มปากว่าประเทศจีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางอาหาร อย่างแท้จริง 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม